วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

มิวนิค "MUNICH"

______หนังดีเรื่องหนึ่งเลยที่ไม่ได้พากย์ไทยโดยให้เหตุผลว่าในเรื่องมีภาษาต่างประเทศเยอะมากถ้าจะมีบทพูดก็น้อยเกินไป และอีกอย่างที่ผมให้ความเห็นเองก็น่าจะเป็นเพราะผลงานเดียวกับผู้กำกับ สตีเว่นสปีลเบอร์ก ที่เคยฝากผลงานชิ้นเอก (ของโลกไปซะแล้ว) อย่าง Schindler's list 1993 ที่ต้นฉบับไม่ได้พากย์แถมยังเป็นหนังขาวดำเกือบตลอดเรื่อง ถือว่า การไม่พากย์เสียงไทยใน Munichเป็นการให้เกียรติผลงานของลุงสปีลเบอร์กอย่างชัดเจน แม้หนังจะผ่านไปหลายปีก็สำหรับผมแล้วการที่จะหยิบมากล่าวถึงเป็นเพราะหลังจากได้ฟังคำปราศัยหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ จอห์นแม็คเคน (ไม่ใช่แม็คเคลน ไม่งั้นก็จะฟังคล้ายชื่อของบรู๊ซวิลลิสใน Die Hard) ที่ยังคงหาเสียงเรื่องความมั่นคงของประเทศและสานต่อการป้องกันประเทศต่อผู้ก่อการร้ายรวมถึงยังคงให้งบสนับสนุนทหารอเมริกันในประเทศแถบอาหรับ แน่นอนว่าเป็นการป้องกันการก่อการร้าย ถึงแม้ว่าวงการหนังจะสื่อถึงความเลวร้ายของการทำสงครามโดยยกภาพเหตุการณ์ขณะทำสงครามมาเป็นตัวต้านอยู่เสมอ ลุงสปีลเบอร์กก็มีไอเดียแปลกใหม่ที่จะบอกเป็นนัยอ้อม ๆ ถึงการปราบการก่อการร้ายด้วยผลงานเอกอีกชิ้น Munich ที่จริงแล้วเป็นชื่อเมืองของประเทศเยอรมันนีซึ่งเกิดโศกนาฏกรรมขณะเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 1972 ที่มีผู้ก่อการร้ายจับตัวประกันซึ่งเป็นนักกีฬาเชื้อสายยิวเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ตนไม่ได้ ผลของการปราบปรามทำให้ตัวประกันตายเรียบ รัฐบาลอิสราเอลจึงมีโครงการล้างแค้นก่อตั้งหน่วยสังหารอย่างลับ ๆ ให้งบประมาณพอสมควรเพื่อสั่งฆ่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยมีหน่วยงานบางหน่วยของสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังซึ่งภายหลังปัญหาการเมืองทำให้ต้องมีการขัดแย้งกันเอง มีการปกป้องเป้าหมายบางคนให้มีชีวิตต่อเพื่อการใหญ่ เป็นเรื่องปกติที่หนังจะซับซ้อนในคำสั่งฆ่าและผลัดกันหักหลังเก็บเงียบกันเอง หนังค่อนข้างจะยืดยาวแต่ดูมีพลังอย่างสูง ระยะหลังเห็นได้ชัดว่า ภาพการเข่นฆ่าที่สปีลเบอร์กถ่ายทอดออกมามันช่างเชือดถึงกระดูกได้นิ่ม ๆ ดาราที่มาแสดงส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า บางคนก็มีเชื้อสายยิว บางคนก็ไม่ใช่ แต่ต้องมารับบทในหนังเพียงเพื่ออยากมีส่วนร่วมในผลงานแห่งปีเรื่องนี้ โดยเฉพาะ แอฟเนอร์ (อีริคบานา) ที่คาแร็คเตอร์ความเป็นผู้นำดูเหมือนจะอ่อนไปในช่วงแรกความแข็งกร้าวมันถูกแบ่งไปกับตัวละครสูงอายุที่ดูเป็นคนมีประสบการณ์ด้านการทำงานลับ ๆ ฉากที่น่าชื่นชมระหว่างปฏิบัติการที่ทำให้ผมทึ่งมากก็คือ ฉากการหักหลังแทรกตีสนิทตัวเพื่อฆ่าหัวหน้าผู้ก่อการชาวอิสลามหนุ่ม มีฉากยิงปะทะกันอย่างดุเดือด และมีการขว้างระเบิดใส่แล้วไม่ได้เป้าหมายที่ดีนัก สมาชิกสูงวัยคนหนึ่งกลับไปหยิบระเบิดขว้างใส่อีกรอบจนต้องรับแรงระเบิดไปด้วย ช่างเป็นภาพเหตุการณ์ที่ต้องยอมรับความเป็นเสือแก่ผู้กล้าหาญแสดงถึงความชำนาญในการปฏิบัติการ ภาระกิจนี้กินเวลานับปีจนดูเหมือนภาระกิจลับที่ไม่ค่อยจะเป็นความลับ จนได้มาตีแผ่ในหนัง ปฏิบัติการได้กินพื้นที่เพื่อสังหารไปแทบจะทั่วทุกมุมโลกหนังต้องเดินทางไปหลาย ๆ ประเทศ ในช่วงท้ายของหนัง แอฟเนอร์ก็เริ่มมีประสบการณ์ขึ้นและเริ่มจะมองเงาตัวเองว่าขณะนี้เขากำลังทำสิ่งใดกันแน่ เมื่อสังหารเป้าหมายไปหนึ่ง มันก็จะกลับมาอีกเป็นสองอย่างไม่มีวันสิ้นสุด แล้วปฏิบัติการนี้มันจะมีประโยชน์อะไรกัน ท้ายสุดทีมของเขาก็ต้องหวาดระแวงกันเองว่าอาจะถูกโยนบาปใส่ตัวกลายเป็นเป้าหมายสังหารซะเองทีละคน มันเป็นวัฎจักรของสายลับอยู่แล้ว บทสรุปของหนังนอกจากลุงสปีลเบอร์กจะเกลียดสงครามแล้วการปราบปรามก่อการร้ายก็น่าจะเป็นที่รังเกียจไม่น้อยไปกว่าสงครามเลย แล้วการแถลงนโยบายหาเสียงก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่ใยดีคนทำหนังซักนิด ดูเหมือนชื่อหนังจะไม่เกี่ยวกันเลยกับโครงเรื่องทั้งหมด แต่ Munich กลับถูกโยนให้เป็นบาปในครั้งนี้คงเพราะลุงสปีลเบอร์กยังคงเอาใจชาวยิวด้วยกันที่จะใช้ชื่อเยอรมันในการแก้แค้นเล็ก ๆ มาใช้เป็นชื่อหนัง (ความเห็นส่วนตัวนะ)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จะบอกว่าเรื่อง Schindler's list เคยมีพากย์ไทย ในช่อง 3 นานแล้ว