วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อาข่าผู้น่ารัก "Mheejou"

______ลองอุดหนุนหนังไทยอีกเรื่องที่พอจะฮือฮาบ้างเล็กน้อย ก็ระดับโปรดิวเซอร์ลงมากำกับเองบ้าง คุณสุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ ได้ยินชื่อจากผลงานโปรดิวเซอร์หนังไทยหลาย ๆ เรื่องก็ถือว่าคลุกคลีกับวงการมาพอสมควรแต่ต้องจัดว่าเป็นหนังไทยที่ค่อนข้างตลาดเพราะคุณเธอเน้นที่จะเอารายได้เป็นผลงานแต่ไฉนกลับมาทำหนังที่คาบลูกคาบดอกว่าแนวชาวเขาจะทำเงินได้เนี่ย "อาข่าผู้น่ารัก" กับความน่ารักของเด็กญี่ปุ่นมาแสดงก็ไม่เข้าใจว่าเด็กไทยไม่ดีตรงไหนแค่สร้างความแปลกใหม่เฉย ๆ เพราะดูไปมาขัดใจตรงที่ต้องลงทุนพากย์เสียงทั้งที่หนูน้อยพอจะพูดได้บางคำก็จับมาแสดงแล้ว เทรนด์นี้คงไม่ห่างจาก โน๊สอุดมแต้ ก็หานางเองมาแสดงหนังใน "อีติ๋มตายแน่" ก็ค่อยรอดูว่ารายได้จะทำให้ใครกันแน่ต้องตายดับ ว่ากันต่อกับเรื่องราวของน้องหมี่จู (ฟูอาน่าฮิโรยาม่า คุ้น ๆ ว่าชื่อยาม่าหมายถึงภูเขาตรงนี้กระมังที่เธอเหมาะจะมาแสดง) ที่สร้างความป่วนให้กับชาวหมู่บ้านอาข่าที่น่ารักทุกคน โดยเฉพาะพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านที่มีกฏว่าใครที่ทำความเสียหายให้หมู่บ้านจะถูกขับไล่ออกไปอยู่ที่อื่น หมี่จูต้องอยู่กับน้าสาวที่เคยโดนขับไล่เช่นกันเพียงแต่ว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจอะไรดีกว่าเด็กเมื่อโดนขับไล่ก็ไม่กล้ากลับไปแต่สำหรับเด็กไร้เดียงสาพอร้องอยากกลับก็ได้กลับเพียงแต่ต้องสัญญาจะไม่ก่อกวนใด ๆ อีก เด็กก็คือเด็กรับปากไปงั้น ๆ เดี๋ยวก็ก่อเรื่องอีก ขณะเดียวกัน พี่แป้น (พิมพรรณ ชลายนคุปต์) ทีมงานจัดรายการทีวี "กระจกเงา" ก็มาจัดรายการบนดอยของเผ่าอาข่า ชื่อโครงการ "ทีวีบ้านนอก" เพื่อนำเสนอสู่สาธารณะชนเพียงแต่ต้องทดลองออกรายการผ่านสายเอวีให้ชาวอาข่าชมก่อน นั้นเป็นที่มาของเรื่องราวหมี่จูที่ได้กลับไปหมู่บ้านแล้วช่วยเหลืองานเล็กน้อยให้พี่แป้นและทีมงานจนเกิดความสัมพันธ์อันดีในตอนท้ายของเรื่องถือเป็นไคลแม็กซ์ เมื่อรายการไม่มีความน่าสนใจและกำลังจะยกโครงการกลับหมี่จู่ได้สร้างเซอร์ไพร์ซให้กับรายการเพียงแค่ผู้ใหญ่ได้เปิดใจรับฟังเด็ก ๆ บ้าง เพียงแค่ภาพถ่ายของเพื่อนบรรดาเด็กที่เคยถูกขับไล่ฝากส่งกลับผ่านมือของหมี่จูมาให้ครอบครัว หมี่จูซึ่งกำลังจะถูกขับไล่อีกครั้งขอออกทีวีเพื่อเป็นสื่อผ่านของฝากจากเพื่อนที่สำคัญคือหมี่จูได้มีโอกาสระบายความในใจออกมาให้ผู้ใหญ่ได้ฟังหัวใจน้อย ๆ ของเด็กคนนี้ที่เปรียบไปก็เหมือนหัวใจทุก ๆ ดวงของเด็กน้อยมารวมกันเพื่อได้มีโอกาสพูด แม้หนังจะจบอย่างน่าประทับใจแต่ก็มองเห็นถึงความอ่อนหัดยังถ่ายทอดความรู้สึกของความดราม่าได้ขาด ๆ เกิน ๆ อย่างที่ไม่น่าจะเป็น ถ้าหลับดาดูหนังเรื่องนี้ผมจินตนาการได้สูงกว่าภาพที่เห็นมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะไคลแม็กซ์แล้วความเข้าใจของเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ยังรู้สึกงงว่าอาข่าน้อยทำไมอยากออกทีวีนักเมื่อได้ออกแล้วมันได้ประโยชน์อะไรอีกถึงได้ซึ้งกันนักหนาแค่เอารูปถ่ายให้เท่านั้นเองถึงกับน้ำตาไหลเชียวหรือ นั่นแหล่ะ! ประเด็นที่ต้องเอามากล่าวก็ในเมื่อดีกรีของผู้กำกับสูงขนาดนี้แล้วไยถึงได้สื่อสารผิดพลาดได้ขนาดนี้คนดูไม่เข้าใจ ทำให้ผมต้องอธิบายว่า "นานมาแล้ว" ชาวอาข่ามีกฏว่าคนผิดต้องถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านแล้วไม่ได้กลับมาอีก ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่แทนความผูกพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ข้างหลังภาพนั้นคือความรักความอบอุ่นในช่วงเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน หนูน้อยหมี่จูหัวใจยังเด็กเกิดความไม่เข้าใจว่าทำไมความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ขาดจากกันนั้นถึง "ต่อติดกันใหม่ไม่ได้หรือ?" การให้อภัยในสิ่งที่เกิดขึ้นนานมาแล้วน่าจะต้องหมดสิ้นไป กฏไม่ได้มีไว้ให้แหกแต่กาลเวลาที่ผ่านไปแสนนานน่าจะให้อภัยและลดหย่อนได้ เพียงแต่เขียนจดหมายถึงกันบอกส่งความคิดถึงกัน สายใยครอบครัวที่ไม่ได้ขาดเพียงแต่ถูกลืมไปน่าจะกลับมาใหม่ได้ นั้นเป็นสิ่งที่ผู้กำกับจะต้องสื่อให้ชัดเจนกว่านี้ ผมดูแล้วหนังไม่ได้ขาดคุณภาพเท่าไรแถมทีมงานก็ยังพร้อมเอามาก ๆ ไว้ค่อยแก้ตัวใหม่ได้นะ ขนาดหัวหน้าหมู่บ้านยังให้อภัยหมี่จูแก้ตัวตั้งหลายหนแล้วคนดูหนังนั่งเฉย ๆ อย่างเรา ๆ ก็ย่อมให้อภัยหนังไทยที่อุตส่าห์ตั้งใจทำนี้ได้เหมือนกันครับ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ดิ เอ็กซ์ ไฟล์ ความจริงที่ต้องเชื่อ "The X-Files : I Want to Believe"

______กลับมาอีกครั้งหลังจากรอคอยมาหลายปีคราวนี้ไม่ต้องทนฟังเสียงพี่ตั้วพากย์นายฟ็อกซ์โมเดอร์ (เดวิดดูคอฟนี่ย์) เพราะพากย์ครั้งนั้นเสียงไม่เข้ากับใบหน้าเอาเสียเลย มีข่าวมาก่อนแล้วว่านักแสดงนำทั้งสองก็รวม ดาน่าสกัลลี่ (จิลเลียนแอนเดอร์สัน) ต้องไปเบบี้เฟซเพื่อกลับมารับบทนี้กันใหม่ (น่าจะเป็นข่าวล้อกันเล่นมากกว่าแต่ก็เห็นริ้วรอยแห่งวัยอยู่เหมือนกัน) ความห่างของหนังภาคแรกในปี 1998 กับภาคสองที่ไม่ได้ต่อติดกันเลยนั้นยาวนานเหลือเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีรี่ย์ยอดนิยมเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ปี 1993 นั้นสุดฮอตติดต่อกันปีต่อปีเรียกว่าเป็นสุดยอดความนิยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็ต้องห่างหายไปเมื่อซีซั่นหลัง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องให้พระเอกของเรา ฟ็อกซ์โมเดอร์หายตัวไปอย่างลึกลับแล้วมีการเปลี่ยนตัวแสดงนำ "โรเบิร์ตแพตทริก" ดำเนินเรื่องคู่กับจิลเลียน นั่นอาจจะเป็นสาเหตุของการเสื่อมความนิยมของซีรี่ย์ที่เคยโด่งดังไป The X-Files: I Want to Believe ชื่อเรื่องนั้นชวนให้น่าดูมากโดยเฉพาะความเป็นหนังสองแง่สองง่ามกับความลึกลับที่เกิดขึ้นในโลกนี้หรือกระทั่งของจักรวาลนี้ (อาจจะเกินไป) ดูจากชื่อเรื่องแล้วน่าจะต้องเกี่ยวข้องกันกับภาคหนึ่งแน่ ๆ หลังจากดูไปได้ซักสิบนาทีก็มั่นใจเลยว่าไม่เกี่ยวข้องกันเลยยิ่งไปกว่านั้นแทบจะไม่น่าจะเป็นหนังใหญ่ได้เลยน่ะจะเป็นแค่ซี่รี่ย์ตอนหนึ่งเท่านั้น ประเด็นของหนังมีเพียงประเด็นเล็ก ๆ กับความเชื่อในพลังจิตที่มาจากอดีตสาธุคุณนายหนึ่งที่กำลังถูกจองจำโดยไร้พันธนาการเพียงแต่กักบริเวณให้อยู่ในสถานที่ซึ่งรัฐกำหนดไว้ ท่านสาธุคุณโจ โจเซฟคริสแมน (บิลลี่คอนนอลลี่) มีภาพนิมิตเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรม ลักพาตัวหรือค้นหาศพผู้เสียชีวิตโดยหาตำแหน่งที่เกิดขึ้นให้กับทาง FBI ได้แต่ก็ยังไม่ได้รับความเชื่อถือนักเพราะภูมิหลังที่เคยกระทำชำเราลูกศิษย์วัดมาก่อนทำให้เป็นที่รังเกียจของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะนักสืบสกัลลี่ ขณะเดียวกันก็ต้องขอความช่วยเหลือจาก ฟ็อกซ์โมเดอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการในเรื่องเหลือเชื่อในการตัดสินความน่าเชื่อถือของสาธุคุณโจ การลักพาตัวและเหตุฆาตกรรมยังคงดำเนินไปเรื่อยการสืบสวนก็คืบหน้าด้วยภาพนิมิตจนทำให้ตามคนร้ายทัน จนมาถึงตอนท้ายของหนังที่มีการเชื่อมโยงการเกี่ยวของภาพนิมิตมาจากอดีตเด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดมาก่อน ทำให้เกิดข้อคิดว่าภาพนิมิตนั้นน่าจะมาจากพรที่พระเจ้ามอบให้หรือบาปที่ค้างคากันแน่? สำหรับผมแล้วหนังเรื่องนี้ ขอร้องเถอะ "ช่วยเปลี่ยนชื่อเรื่องให้เป็นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ The X-Files เสียทีเถอะ คนดูอุตส่าห์เฝ้ารอหนังใหญ่เรื่องนี้มานานยิ่งโดยเฉพาะตอนท้ายของภาคหนึ่งมียานบินขนาดใหญ่มาเข้าฉากบินหนีไปนอกโลกด้วยแล้วยิ่งทำให้อยากรู้ความเป็นไปในภาคสอง นักสืบสกัลลี่ที่โดนเอเลี่ยนจับตัวไปเข้าแคปซูลจนพระเอกไปช่วยออกมาได้จะมีผลอะไรกับเธอบ้าง? แต่แล้วหนัง The X-Files: I Want to Believe ก็สร้างความผิดหวังเต็ม ๆ ที่น่าจะกลายเป็นแค่หนังฆาตกรรมเกรดบีหรือเกรดดีด้วยซ้ำ ไม่ได้สร้างความฉงนแบบแปลกใหม่ให้เลย แล้วโครงการนี้รู้สึกว่าหนังใหญ่ในบ้านเราจะไม่ได้ฉายด้วยสิหรือฉายเพียงไม่กี่โรงก็ไม่แน่ใจ ผมชักจะแน่ใจแล้วว่า The X-Files คงเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดโดยที่ไม่ทันตั้งตัวหรือจะเป็นแผนลับอะไรซักอย่างที่จะลองเปลี่ยนตัวแสดงแทนแล้วเอา The X-Files ไปยำเละเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่หาดาราหน้าใหม่สด ๆ ซิง ๆ มาแสดง ไม่แน่นะไอเดียนี้อาจจะเป็นจริงก็ได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่า เดวิดดูคอฟนี่ย์ที่เพิ่งมีข่าวโจมตีแรง ๆ ว่าอยู่ในขั้นบำบัดอาการอยากเซ็กซ์24ชั่วโมงนั้น ทำให้ทุกอย่างพังพินาศแม้แต่หนังก็ทำลวก ๆ ตามสัญญาให้จบ ๆ ไปซะทีแล้วไม่ต้องมาเจอกันอีก ไม่ปลื้มครับ

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เมืองคนตายยาก "Sin City"

______ดูไปแล้วหนหนึ่งก็ลองเอากลับมาดูใหม่เพิ่งได้ยินว่าจะมีการสร้างภาคต่ออีกถึงภาคสาม ก็ต้องขอนำมาเสนอซักหนหนึ่งครับ หนัง Sin city เรื่องนี้มีความไม่ธรรมดาอยู่มากคนที่กำลังดูหนังอยู่โดยไม่มีพื้นฐานข้อมูลมาก่อนก็จะงงว่าทำไมหนังทำได้อาร์ทขนาดนี้ เหตุผลก็เพราะหนังเรื่องนี้สร้างจากการตูนแอคชั่นชั้นดี การนำเสนอในหนังก็ไม่ได้ผิดแผกอะไรจากการ์ตูนยกเว้นเฉพาะหน้าตาของตัวละครบางตัวที่ไม่ต้องเอฟเฟคจะใช้ใบหน้าจริง ๆ อย่างเช่น ตัวละคร จอห์นฮาร์ติกัน (บรู๊สวิลลิส) ไม่ต้องเอฟเฟคหน้าเหมือน มาร์ฟ (มิกกี้รู๊ก) หรืออีกตัว จูเนียร์ , เยโล่บาสตาร์ด (นิค สตาห์ล) หนัง Sin city สนองตอบคอการ์ตูนเรื่องนี้อย่างเต็มที่รวมไปถึงคนที่ชอบหนังแนวโหด เลว สิ้นดี ผลงานกำกับร่วมของ แฟรงค์มิลเลอร์และโรเบิร์ตร็อดดิเกวซ ที่ถนัดแนวคิดไอเดียความโหดไส้กระจายเลือดสาดสมองกระจุยแขนขาหักหัวกระเด็น โรเบิร์ตได้ร่วมงานกับเควนตินทารันติโน่ผู้กำกับร่วมเชื้อชาติมาแล้วหลายเรื่องล้วนแต่เป็นศูนย์รวมความโหดแบบมีเนื้อเรื่องแนวอินดี้ทุน(โคตร)ต่ำ มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ อย่าง El Mariachi 1992 หลังจากได้รับการตอบรับดีในบ้านเกิดทำให้ได้ทุนมหาศาลจากโคลัมเบียพิคเจอร์มาทำงานหนังระดับฮอลลีวู้ดเกรดบีจนเป็นตำนานหนังเอามันส์อย่างเดียว Desperado 1995 และ Once Upon A time in Mexico 2003 หนังแอคชั่นคอลูกทุ่งที่มีดาราใหญ่ช่วยเล่นหลายคนจึงไม่แปลกที่หลาย ๆ ท่านจะกลับมาคืนสู่เหย้าช่วยกันเล่นเรื่องนี้ Sin city ว่าด้วยเรื่องหลายเรื่องที่ผลัดกันเล่าซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองคนบาป Sin city ที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น อาชญากรรม ยาเสพติดการล้างแค้น ตำรวจชั่ว โสเภณีเลว ที่ตากอากาศของพวกมือปืนระดับพระกาฬ หนังประดับด้วยดาราใหญ่น้อยมากมายที่อยากจะร่วมงานกับผู้กำกับที่ถนัดหนังอินดี้ระดับเจ้าพ่อรายนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าแปลกพอสมควรที่ดาราเก่าใหม่ทั้งหลายต่างก็กรูกันอยากแสดงหนังเรื่องนี้จนต้องจัดคิวสร้างแบ่งออกไปถึงสามภาคเพื่อจะได้ผลัดกันเล่น ตัวหนังเองก็เป็นเหมือนจดหมายเหตุบันทึกความโหดที่เก็บมาเย็บเล่มรวมกันในหลาย ๆ รูปแบบอย่างสุดที่จะจินตนาการออกมาได้ โดยเฉพาะเรื่องราวของมาร์ฟขณะที่กำลังสำเร็จโทษเจ้าเควิน(อีไลจาห์ วู้ด) อย่างโหดเหี้ยมสาสมการกระทำที่ถูกเลี้ยงดูเป็นพวกกินเนื้อมนุษย์ ให้โดนหมาป่ากัดแทะกินจนเหลือแต่หัวทั้งที่เจ้าตัวกลับสนุกกับความทรมานจากการกัดกิน สุดจะบรรยายออกมา สำหรับหนังการ์ตูนเรื่องนี้ไม่เหมาะกับเด็กเป็นอย่างยิ่งแต่ก็ไม่ใช่จะเหมาะกับใครเลยซักคนสำหรับต่างประเทศแล้วการ์ตูนเรื่องนี้น่าจะเป็นกลุ่มนิยมหนังสยองขวัญแบบสุด ๆ มากกว่าถ้าหนังไม่นำเสนอแบบภาพการ์ตูนที่ผลัดกันเล่าเรื่องในแต่ละตัวละครการนำเสนอจะไม่ค่อยสนุกจนสาวกที่กำลังดูอยู่เบื่อหน่ายหมดเรี่ยวแรงที่จะอุดหนุนทันที สำหรับผมแล้วหนังก็คือหนัง สังคมเมืองในปัจจุบันใกล้เคียงที่จะกลายเป็นสังคมในยุคเถื่อนเข้าไปทุกที Sin city ที่แปลออกมาว่าเมืองบาป ก็ไม่ได้หมายถึงเมืองใดเมืองหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ก็มีนัยออกมาเมืองที่ถูกปกครองโดยตำรวจชั่ว นักการเมืองทุจริตโสมม โสเภณีที่คอยสร้างความสมดุลย์ของการทำมาหากิน นั้นมันใกล้เคียงกับประเทศใดกันเล่า ไอ้หนุ่มเควินที่มองภายนอกหวีผมเรียบท่าทางผู้ดีใส่เสว็ตเตอร์สวมแว่นหน้าเหมือนเด็กเรียนกลับกลายเป็นพวกรับประทางแต่มังสามนุษย์ล้วน ๆ เป็นภาพความขัดแย้งที่เราควรจะตระหนักให้มาก เพราะผลการสำรวจนั้นกลุ่มสาวกของหนังเรื่องนี้ก็ไม่พ้นพวกวัยรุ่นเด็กเรียนเล่นคอมพิวเตอร์ที่ซ่อนความดิบเถื่อนไว้ภายในดูหนังเพื่อได้ระบายความสะใจออกมาในโลกภาพยนตร์ ยิ่งทำให้ผมกลัวการตอบสนองความดังของการ์ตูนเรื่องนี้ทำออกมาเป็นหนังแล้วกลุ่มที่ดูเรื่องนี้จะเพิ่มกว้างขึ้นไปอีกมั้ยเนี่ย ถ้าหนังไม่ได้ตอบแทนอะไรให้กับสังคมแล้ว ก็ไม่ควรจะไปเพิ่มภาพอันเลวร้ายขึ้นมาเลย แต่ก็ยังอยากดูภาคต่อของหนังเรื่องนี้อยู่ดี เอาไงดีคิดแล้วสับสน

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ค้นแผนฆ่า ล่าอัจฉริยะ "Fracture"

______มีคนถามว่าทำไม แอนโทนี่ ฮ็อปกิ้นส์ ถึงได้รับการยอมรับว่าเป็นคนฉลาดระดับอัจฉริยะเสมอ คงหมายถึงปู่ฮ็อปกิ้นส์ได้รับบทดี ๆ เป็นคนฉลาดทั้งในแบบที่เอาสมองไปใช้ในทางที่ดีและในทางที่ผิด ล่าสุดหลายเดือนก่อนก็มีผลงานมาให้ดู ชื่อเรื่องชัดเจนเลยว่าปู่ฮ็อปกิ้นส์เป็นตัวชูโรง Fracture เป็นหนังฆาตรกรรมซ่อนเงื่อนที่ผมมีความรู้สึกว่าค่อนข้างมีความอมหิตเอามาก ๆ ปู่ฮ็อปกิ้นส์ในบท เท็ดครอฟอร์ดวิศวกรอาวุโสที่มีภรรยาสวยอย่าง เจนนิเฟอร์ (เอ็มเบ็ธ ดาวิดทซ์) มักทอดทิ้งภรรยาไว้เดียวดายเพราะความบ้างานแต่ผมคิดว่าเจนนิเฟอร์ถูกเก็บไว้เป็นรางวัลแห่งชีวิตไว้เชยชมหลังเสร็จงานชิ้นใหญ่มากกว่า เรื่องที่เจนนิเฟอร์คบชู้สู้ชายนิรนามเข้าถึงหู เขาจึงวางแผนเพื่อสังหารภรรยา บังเอิญว่ากระสุนสังหารที่เจาะกระโหลกไม่ทำให้เธอเสียชีวิตในทันที สมองระดับวิศวกรของเท็ดครอฟอร์ดก็คิดออกว่าเขาอาจจะใช้เหตุการณ์นี้รอดตัวไปพร้อมกับกำจัดชายชู้ไปด้วยกัน ความอมหิตที่ผมกล่าวถึงก็เท็ดเฝ้ามองความทรมานของภรรยาตัวเองตลอดเวลาแล้วยังเสแสร้งทำเป็นห่วงเป็นใยรอวันเจ้าหญิงนิทราที่มีลมหายใจอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยชีวิตจะถูกถอดเครื่องช่วยออกหลังจากเสร็จสิ้นแผนการณ์ทั้งหมด หลักฐานสำคัญคือ ปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นตัวแปรสำคัญในการเอาผิด นักสึบ ร็อบนูนัลลี่ (บิลลี่เบิร์ก) อยู่ในฐานะชู้รักของเจนนิเฟอร์ต้องหลงกลเรื่องปืนพกก่อเหตุทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการล้างแค้นโดยที่ตนเองไม่รู้มาก่อนเลยว่าชู้รักของตนเองเป็นภรรยาและกำลังประสบเหตุฆาตกรรม หนังให้ความสำคัญในเรื่องบทสนทนาของเจ้าหน้าที่สืบสวนสืบ (เขายกระดับแล้วไม่ใช้คำว่า ตำรวจเฉย ๆ เพราะใช้เรียกตำรวจท้องที่ ) ที่สำนึกผิดการกระทำของตนเองขณะเดียวกันอารมณ์ความแค้นที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมก็ทำให้สับสนถึงขนาดในคราวแรกที่ดูหนังผมไม่คิดว่ามันจำเป็นแค่ไหนที่ต้องฆ่าตัวตายชำระความผิดของตนเองทั้งที่หน้าทีการงานยังดีอยู่ แต่หนังให้น้ำหนักในเรื่องของความสำนึกผิดไว้สูง พระเอกตัวจริงของหนัง วิล บีซัม (ไรอัลกอสลิ่ง) ในบทอัยการหนุ่มไฟแรงที่ค่อนข้างยะโสโอหังทรนงในความสามารถของตนเองเขาว่าความเอาผิดมาตลอดเรียกได้ว่าประวัติการทำงานนั้นดีเด่น ผู้ร้ายไม่เคยรอดพ้นมือของเขา ด้วยประสบการณ์ทำงานของวิลยังไงก็เชื่อนักสืบร็อบว่าเท็ดครอฟอร์ดเป็นผู้ร้ายอย่างแน่นอน แต่ด้วยหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอประกอบกับปืนก่อเหตุนั้นหาไม่พบการพิจารณาความของศาลจึงต้องตัดสินให้เท็ดพ้นความผิดอย่างง่ายดาย บทสรุปของหนังไม่อยากจะเล่าผมอยากจะให้อุดหนุนหนังเรื่องนี้ไปดูหน่อยเพราะมีประเด็นที่น่าสนใจและหลายคนคงมองข้ามไปสนิทคือความเป็นทริลเลอร์ของหนังนั้นลงตัวกับบทบาทของทุกคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะท่านเซอร์แอนโธนี่ฮ็อปกินส์นั้นปกติท่านไม่เรื่องมากรับได้ทุกบาทแถมสีหน้าระหว่างรับบทช่างเข้ากันดีจนดูเหมือนปู่ฮ็อปกินส์เกิดมาเพื่อเป็นนักแสดงโดยแท้ คุณอาจเคยติดภาพจากบท "ด็อกเตอร์แฮนนิบอลแล็กเตอร์" ที่สีหน้าของเขาช่างยิ้มใจเย็นได้ดุดันซ่อนความน่ากลัวได้ล้ำลึก แล้วไฉนสีหน้าเดียวกันนี้เคยรับบท "เบิร์ตมอนโรว์" บ้านนอกอารมณ์ดีที่มีนิสัยอบอุ่นน่ารัก แล้วบทที่ผมคิดว่าคล้ายคลึงกับเรื่องนี้ก็ต้องเป็น The Edge 1997 ที่เคยเชือดเฉือนบทกับอเล็กซ์บอลวิน เนื้อเรื่องก็มีประเด็นเค้าโครงคล้ายกันคือ เศรษฐีที่โดนสวมเขา แต่กลับกันตรงที่ The Edge ตัวฮ็อปกิ้นส์เองที่กำลังจะถูกฆาตกรรมด้วยความเป็นคนฉลาดล้ำลึกจึงเอาชีวิตรอดมาได้ คาเร็คเตอร์เดิมของเขาใน Fracture ได้เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ร้ายซึ่งผมดูไปมากลับลุ้นให้เขาเอาตัวรอดให้ได้ในตอนจบ ซึ่งมันสวนทางกับความยุติธรรม ก็คงมีหนังไม่กี่เรื่องหรอกที่เราIn กับหนังแล้วเหมือนกำลังถูกหลอกได้สำเร็จ หนังยังเน้นการเจรจาหาทางหลอกล่อของอัยการหนุ่มที่ประสบความสำเร็จมาตลอดให้เขาแทบจะกลับกลายเป็นคนอ่อนหัดเพิ่งว่าความเป็นอยากจะงัดเอาวิชามารมาใช้ แต่ความยุติธรรมย่อมชนะความชั่วร้ายได้สำเร็จเสมอตราบใดที่ยังไม่โดนแทรกแซงจากอำนาจเงินเหมือนศาลสถิตยุติธรรมของบ้านเรายังคงได้รับความเชื่อถืออยู่

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เลโมนี สนิกเก็ต อยากให้เรื่อง นี้ไม่มีโชคร้าย "mony Snicket's A Series of Unfortunate Events"

______หนังเรื่องนี้ยังคงเป็นหนังล่าสุดของจิมแครี่ที่ยังเรียกได้ว่าน่าประทับใจหลังจากผ่าน Bruce almighty บทที่เล่นเป็นพระเจ้าขี้เล่นที่พอจะทนดูได้และก่อนที่จะไปแย่กับบทคุณฟิงเกอรริ่งหรือ วอลเธอร์สแปโรว์ใน Number 23 จนท่าทางจิมแครี่จะอยู่ขาลงเดินบันไดฮอลลีวู้ดไม่ขึ้นแน่ถ้าไม่ได้บทดี ๆ มากลบ ที่หยิบยก Lemony Snicket's เรื่องนี้ขึ้นมาเพราะกำลังนึกถึงหนังสืออ่านเล่นสำหรับเยาชนที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วจัดว่ามีคนรู้จักอยู่พอสมควรเนื้อเรื่องก็ไม่ได้ยืดยาวมากต้องยอมรับจริง ๆ เลยว่าหนังเกรดเอสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้วยกมาจากหนังสือมากกว่าจะเขียนขึ้นมาใหม่ เพราะการแต่ขึ้นมาใหม่ได้ห่วยจะถูกจัดให้เป็นหนังเกรดบีทันทีและที่สำคัญคนตะวันตกนิยมอ่านหนังสือมากกว่าดูทีวีส่วนพวกผ่าเหล่าที่ชอบดูทีวีมากกว่าอ่านนั้นจะถูกจัดเป็นพวกหนึ่งของสังคมไปเลยทีเดียว ฉะนั้นการที่เราจะมานั่งอ่านวรรณกรรมเยาวชนของชาติไหนก็ตามผมยอมรับได้ว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม แล้วถ้าหนังสือได้รับความนิยมสูงจนนำมาสร้างหนังก็ยิ่งทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย อย่าง Lemony Snicket's ผมว่าเหมาะอย่างยิ่งที่จะให้จิมแครี่รับบทแปลก ๆ ที่แตกต่างออกไปแม้จะเป็นบทร้ายก็ตามแต่ที่จริงแล้วเขารับแค่บทเดียวคือ เคาท์โอลาฟ ที่ปลอมตัวเป็นบรรดาญาติทั้งสนิทและห่างของเด็ก ๆ Lemony Snicket's ตอนเป็นหนังสือก็ดีอยู่แต่ตอนเป็นหนังนี่กลับถูกจัดอยู่ในชั้นวางของหนังประเภทตลกร้ายหรืออาจจะไม่มีตอนตลกเลยมีแต่ตอนร้าย ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าถึงความโชคร้ายของพี่น้องโบดแลร์ซึ่งเล่าเรื่องโดย จูดลอว์ หนูน้อยทั้งสามประกอบด้วยพี่สาวคนโต ไวโอเล็ต (เอมิลี่บราวนิ่ง) นักประดิษฐ์ผู้แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีเสมอ น้องชายคราอัส (เลียมไอเคน คนนี้มีผลงานการแสดงมาเยอะ) นักอ่านผู้รอบรู้และน้องสาวคนเล็กซันนี่จอมกัดผู้น่ารักน่าชัง ว่าด้วยทั้งสามโชคร้ายต้องตกเป็นเด็กกำพร้าเนื่องจากสูญเสียพ่อแม่จากไฟไหม้บ้าานจึงต้องหาผู้ปกครองจากบรรดาญาติโดยที่มีมรดกติดตัวอยู่พอสมควรจึงเป็นที่หมายปองจะเป็นผู้ปกครองของเคาท์โอลาฟ ทำให้ญาติดี ๆ ที่รับเลี้ยงดูต้องประสบชะตาขาดจากการมาเยือนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เคาท์โอลาฟปลอมตัวมา ในแต่ละตอนของเรื่องจึงเป็นเรื่องที่ทำให้ต้องมองชะตาชีวิตที่กำลังจะสดใสแต่จบลงด้วยโลกอันร้ายกาจ การสูญเสียญาติไปทีละคนกับหนังสือในแต่ละตอนที่รวบรวมมาเป็นภาพยนตร์ดูมันจะรวบรัดจนน่าหดหู่ แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นดาราหลายคนที่ได้ร่วมแสดงประกอบล้วนเป็นดาราจอเงินระดับบิ๊กทั้งสิ้น และเราก็ได้เห็นคุณค่าของความเป็นคนเอาตัวรอดด้วยสัญชาติญาณติดตัวอย่าง สาวน้อยไวโอเล็ตเป็นนักประดิษฐ์เมื่อใดที่เธอรวบผมตั้งสมาธิมั่นคงก็มักจะมีความคิดดี ๆ ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ และแก้ไขสถานการณ์เอาตัวรอดนับเป็นตัวอย่างของเยาวชนดีเด่นที่มีความเป็นพี่ใหญ่ใจดีห่วงใยน้อง ๆ สมเป็นผู้นำ หนูน้อยคราอัสก็เป็นนักอ่านตัวยงเขาอ่านหนังสือแทบจะตลอดเวลาที่ว่างจนมีความรู้จากการอ่านติดตัวมาใช้ได้ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นอย่างมากการรักหนังสือทำให้เราเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์ได้ด้วยเช่นกัน แม้หนังสือจะเป็นที่รู้จักทั่วไปแต่ก็มีหลายคนที่ไม่ค่อยปลื้มกับความยืดเยื้อของเรื่องราวที่มีหลายเล่ม กว่าเคาท์โอลาฟจะได้รับผลกรรมจากการกระทำของตนเองในตอนจบแต่เขาก็เล็ดลอดอันตธารหายตัวไปอย่างลึกลับจนเราไม่รู้เลยว่ายังจะมีโชคร้ายอะไรมาเยือนพี่น้องโบดแลร์อีกหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นชีวิตจริง การที่เราได้รับเรื่องร้าย ๆ มาตลอดชีวิตจนรู้สึกว่ามันน่าจะผ่านไปแล้วต่อไปเราก็ควรจะได้พบกับโชคดีซะที การมองโลกในแง่ร้ายก่อนหันมามองโลกในแง่ดีนั้นมันช่างทำให้โลกสดใสกว่าที่มองเห็นอยู่มากนัก หนังเรื่องนี้มีครบรสความสุข ความร้ายกาจ ตื่นเต้นในหลาย ๆ ตอน แต่ก็หนักสมอง ไม่ถึงขั้นทำให้ซีเรียส แต่เท่าที่รู้มามันก็ทำให้หลายคนเลิกอ่านหนังสือเล่มที่เหลือหลังจากออกมาสิบกว่าเล่มไปเหมือนกันคงเพราะทนความโชคร้ายที่ยืดเยื้อไม่ค่อยได้กระมังครับ

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551

อาชญากรรม/ความหวัง/การสูญเสีย "Babel"

______นี่คงเป็นหนังที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนหัวหลายคนไปแล้วทั่วประเทศ (พวกต่างชาติดูได้ไม่ค่อยงงแถมยังตอบรับดีมากด้วย) แต่คนไทยก็ไม่ใช่ย่อยที่ชอบพอหนังเรื่องนี้ไม่น้อย ตอนแรกที่หนังออกฉายผมเข้าใจว่าต้องมีความเกี่ยวข้องกับ Crash หนังดีอีกเรื่องแต่กลับไม่ใช่เพียงแต่แนวทางดำเนินเรื่องที่เชื่อมโยงกันห่าง ๆ เป็นลูกโซ่นั้นนำเสนอได้คล้ายกัน เพียงแต่ Babel ค่อนข้างจะหนักหน่วงจนแทบแบกไม่ไหวตลอดเรื่อง ผู้กำกับต่างชาติที่ออกเสียงอ่านยากจนต้องอ่านในแบบอเมริกันว่า อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาริตู ชาวเม็กซิโก ที่มีผลงานชวนเวียนหัวในการเรียงลำดับเรื่องมาก่อนแล้วใน 21 grams ก็ไม่ทิ้งเจตนารมณ์ที่จะให้คนดูหนังให้หรรษาแบบธรรดาไปไม่ได้ หนังเรื่องนี้ดีอย่างตรงที่ไม่ต้องสนใจหรอกว่าใครแสดงบ้างดาราดังหรือไม่ดังก็คงไม่เกี่ยงจะมารับบทในหนังดี ๆ เรื่องนี้จึงไม่จำเป็นเลยต้องเอ่ยว่า แบรดพิทต์แสดงเรื่องนี้ด้วย (บอกจนได้) Babel มีความหมายไม่แน่นอน แต่สำหรับผมน่าจะหมายถึงความห่วงใยของคนในครอบครัว เรื่องราวของสามครอบครัวที่ต่างก็มีลูก ต้องมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ถึงกันเป็นชั้นเชิงในการผูกเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก กับการหาที่มาของอุบัติเหตุปืนยิงระยะไกลถูกนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันสาวจึงเป็นเรื่องเลวร้ายของสามีที่ทั้งคอยห่วงใยและดิ้นรนหาทางช่วยชีวิตภรรยาสาวในดินแดนที่ห่างไกลความเจริญ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ติดตามหาที่มาของปืนไรเฟิ่ลที่ใช้ยิงเป็นของครอบครัวเล็ก ๆ หัวหน้าครอบครัวผู้เป็นพ่อได้มอบหมายให้ลูกชายสองคนเฝ้าฝูงสัตว์เลี้ยงด้วยปืนไว้ใช้ยิงหมาจิ้งจอกที่มารบกวนแต่ด้วยความคึกคะนองดันไปยิงใส่รถบัสแล่นบนถนนเพื่อพิสูจน์ความแม่นยำ อีกซีกโลกประเทศญี่ปุ่นก็ปรากฏที่มาของเจ้าของปืนที่เคยมาเที่ยวโมร็อคโคและทิ้งปืนไว้ให้ชาวพื้นเมืองครอบครองจนมาขายต่อให้พ่อของเด็กชายที่ใช้ปืนยิงก่อเหตุน่าสลดขึ้น หนังมีที่มาและดำเนินเรื่องได้น่าเบื่อในตอนแรกตามสไตล์ผู้กำกับแล้วเริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงกลางเรื่องซึ่งยังมีการเชื่อมโยงเรื่องของพี่เลี้ยงที่พาลูกของเจ้านายผ่านเข้าเม็กซิโกโดยผิดกฎหมายโดยพลการจึงมีปัญหาตอนออกที่ต้องลอบผ่านชายแดนจนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ชายแดนที่อาจจะไม่ยอมตามหาเด็ก ๆ ที่กำลังหลงอยู่ในทะเลทราย นับเป็นหนังที่รวมเรื่องร้าย ๆ ไว้มากถ้าหากคนในครอบครัวไม่หันมาเอาใจใส่ซึ่งกันและกันไร้ความห่วงใยซึ่งกันและกันแล้ว เมื่อเกิดเรื่องคาดไม่ถึงขึ้นมาก็ต้องเผชิญหน้ากับความกลัวการสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัว ตราบที่ยังไม่สิ้นศรัทธาของความหวังหนทางรอดก็มักเปิดประตูให้เห็นเสมอ อย่างครอบครัวพ่อลูกสองที่ก่อเหตุเรื่องปืนถือเป็นอาชญากรรมที่ทำให้มีผลร้ายถึงระดับชาติได้ความไว้วางใจเกินเหตุปืนเป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องฝึกฝนความมีระเบียบในการใช้งานพร้อมกับเรียนรู้ถึงอันตรายของมัน ความแม่นยำไม่ใช่อย่างเดียวที่บ่งบอกว่าเหมาะสมกับการจะเป็นเจ้าของหากพ่อลูกเรียนรู้สิ่งนี้ร่วมกันก่อน... เด็กสาวที่ตนเองมีปมด้อยต้องเป็นใบ้นั้นยังโชคร้ายไม่พอเธอยังเป็นเด็กกำพร้าแม่จึงขาดความรักเอาใจใส่ที่จะเรียนรู้ความเป็นผู้หญิง(กุลสตรี)ผู้เป็นพ่อน่าจะต้องให้ความรักเพิ่มจากปกติอีกเท่าตัวแทนที่จะทำแต่งานมันอาจจะทำให้มีความมั่นคงเพียงภายนอกแต่ภายในนั้นความโดดเดี่ยวเดียวดายของเด็กสาวอาจจะมองหาความรักผิด ๆ ใส่ตนเอง... สามีภรรยาชาวอเมริกันผู้รักอิสระคิดว่าความที่ตนมีพร้อมทุกอย่างในชีวิตก็ต้องรับไม่ได้กับความเหตุที่เกิดขึ้นมันใกล้เคียงความสูญเสียในชีวิตจริง โดยที่ยังไม่รู้เลยว่านอกจากจะแทบเสียเมียแล้วเขาอาจจะต้องเสียลูกทั้งสองด้วย ต่างฝ่ายต่างปิดบังเพื่อเก็บความทุกข์เพียงในใจ ส่วนพี่เลี้ยงที่ตัดสินใจผิดพลาดในการพาเด็กผ่านด่านชายแดนไปก็ต้องสูญเสียอาชีพและชีวิตที่กำลังดำเนินไปได้ดีไปเพียงแค่ไปงานแต่งงานของลูกชายที่เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวเปี่ยมสุข ดูหนังจบแล้วควรจะปลง บรรดาชีวิตหลาย ๆ ชีวิตบนโลกก็มักจะต้องประสบเรื่องราวต่าง ๆ การหันหน้าเข้าหากันอย่างครอบครัวเดียวกันไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็ต่างมีลมหายใจเดียวกันทั้งสิ้น

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551

มนุษย์ตัวเขียวจอมพลัง "The Incredible Hulk"

______กลับมาอีกครั้งเพราะอดใจไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงฮีโร่อีกตัว ดันเขียนถึง Iron Man ไปแล้วสองเรื่องได้มีการเชื่อมโยงถึงกันในตอนจบของหนังแบบที่โทนี่สตาร์คโผล่มาทั้งตัวเป็น ๆ ทั้งที่ช่วงแรกของหนังผมมองว่าเป็นมุขตลกของหนังที่ มาร์เวลคอมมิคเจ้าของค่ายซูปเปอร์ฮี่โร่ที่มีฮีโร่ในสต๊อกที่นำเสนอผลัดกันฉายเอารายได้ในช่วงซัมเมอร์เดียวกันของปีนี้ 2008 เรื่องราวของ Hulk ในภาคสองผมมองว่าไม่ใช่ภาคสอง แต่น่าจะเป็น Version 2 เสียมากกว่า โดยโยนเนื้อเรื่องเก่าที่กำกับโดย อังลี ทิ้งลงถังขยะนั่นส่งผลให้ดาราที่แสดงก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมดไม่มีเหลือ ผมยอมรับอีริคบานาว่าเหมาะที่จะเป็น บรู๊ซแบนเนอร์มากกว่าเอ็ดเวิร์ดนอร์ตันเนื่องจากรูปร่างและบุคคลิกความสดใหม่ เอ็ดเวิร์ดนอร์ตันมีผลงานแสดงในแง่ของพวกจิตผิดปกติมาก่อนหลายเรื่องจนกลายเป็นบุคลิกประจำสีหน้าเขาดูเจ้าเล่ห์แบบพระเอกร้ายไม่น่าจะใช่พวกที่บันดาลโทสะออกง่าย ๆ ที่ยอมรับอีกไม่ได้ก็ต้องเป็นผู้ร้ายอย่างทิมรอธ ที่ดูเขาไม่ออกเลยว่าเหมาะจะได้รับบทยอดทหารหาญจอมลุยได้ยังไงมันดูขัดตา มาตลอดกับหุ่นเตี้ย ๆ แค่นี้หน้าตาก็ยังเหมือนอิตาเลี่ยนไม่เปลี่ยนแปลง ที่ผมยอมรับคือนางเอกลิฟไทเลอร์ที่ดูอ่อนเยาว์กว่าเจนนิเฟอร์คอนเนลลี่เหมาะจะรับบทเบ็ตตี้รอส มากเพราะเธอต้องสวยขนาดหยุดยักษ์ตัวเขียวลงได้ กล่าวมาตั้งเยอะถ้าจะเข้าเรื่องตรงที่ ผมเพิ่งได้เห็นยักษ์เขียวฮัลค์ เป็นซูปเปอร์ฮีโร่ในเวอร์ชั่นนี้ จากเวอร์ชั่นก่อนเขาเป็นแค่ตัวอันตรายที่ต่อสู้กับพ่อตัวเองความสำเร็จของหนังเป็นเพียงการเปิดตัวที่แปลกใหม่จนลืมสร้างให้เขาเป็นซูปเปอร์ฮีโร่ขวัญใจเด็ก ๆ ระดับคอหนังคงจะรู้จักมิสเตอร์ฮายด์กับด๊อกเตอร์เจ็กเกิ้ล (Mr.Hyde Dr.Jekyll) วรรณกรรมคลาสสิคอมตะที่เกี่ยวกับด๊อกเตอร์อ่อนแอที่ผสมสูตรยาเพื่อเปลี่ยนบุคลิกตนเองให้กลายเป็นอีกคนที่อัปลักษณ์และดุร้ายพอจะก่ออาชญากรรม เขาเป็นหนึ่งในปีศาจร้าย Monster ที่แสตนลีได้นำมาดัดแปลงเปลี่ยนให้ตัวละครอย่างบรู๊ซแบนเนอร์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบอุบัติเหตุจากรังสีแกมม่ารั่วใส่ทำให้เขากลายเป็น Monster เมื่อเขามีอารมณ์โกรธจัด Monster ตนนี้มีนามเหมือนภาษาโบราณว่า HULK ชื่อที่ค่อนข้างจะป่าเถื่อนดุร้ายแต่ก็เป็นตัวการ์ตูนที่มีคนชื่นชอบมากกับการผจญภัยของเขาจากการเดินทางไปเรื่อยและใช้ปีศาจจากความโกรธของเขากำจัดคนพาลและอภิบาลคนดี ในเวอร์ชั่นแรกของอังลี ฮัลค์มีลักษณะที่คล้ายสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างกบ แต่ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ผมดูแล้ว ฮัลค์ ดูคล้ายกอลิล่ายักษ์มากว่าคนเสียอีก มีซีรี่ย์ยอดฮิตทางทีวีฉายเป็นเวลานานสมัยราวสามสิบปีก่อนในบ้านเรามาก่อนทำให้คนไทยรู้จัก ฮัลค์ อยู่เหมือนกันเดิมทีชื่อของเขาไม่ใช่บรู๊ซแบนเนอร์แต่เป็น "เดวิดแบนเนอร์" ซึ่งเป็นชื่อผู้พ่อของเขา (ในเวอร์ชั่นแรกให้ นิคโนลเต้รับบท) ยังไงก็ไม่รู้ถึงเปลี่ยนแปลงชื่อได้ แต่เรื่องราวในหนังยังมีประเด็นแคบ ๆ ตรงที่ ฮัลค์ จะต้องคอยต่อสู้กับกองทัพทหารอาวุธร้ายแรงมากกว่าต่อสู้กับคนร้าย ในความเห็นของผมคงจะเป็นมุขแสบ ๆ แบบไม่ได้คิดไปเองแน่นอน ว่า สิ่งที่จะดึงดูดน่าสนใจของหนังไม่ใช่การปราบปรามเหล่าร้ายกิ๊กก๊อกกระจอกง่อกง่อยอีกต่อไปแล้ว ปัญญาชนสมัยใหม่ถูกใจและสะใจกว่าถ้าจะมีโอกาสใช้ความโกรธในตัวเองออกมาอาละวาดไล่พวกบ้าสงครามไปไกล ๆ เราไม่ต้องใช้อาวุธอะไรไปไล่ มีแค่มือเปล่า ๆ กับเนื้อหนังก็พอ หนังได้ใส่มุขตลกไว้หลายตอนบางคนอาจจะตามไม่ทันฟังผ่านไปเฉย ๆ ไม่ทันได้ขำ แต่ที่แน่ ๆ มีโอกาสแล้วที่คอหนังทั้งหลายจะได้ดูเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่มารวมตัวกันกอบกู้โลก มันช่างเหมาะเจาะมากที่จะวางตัวโทนี่สตาร์ค (โรเบิร์ตดาวนี่ย์จูเนียร์) เป็นทูตเจรจารรวบรวมสมัครพรรคพวกฮีโร่ของมาร์เวลคอมมิคส์ ความเจ้าสำราญเสเพลไม่ถือตัวแต่จิตใจแข็งแกร่งของโทนี่สตาร์คนั้นเข้าท่ามาก

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บัลลังก์รัก ฉาวโลก "The Other Boleyn Girl"

______หนังใหม่สด ๆ ซิง ๆ ที่นำเสนอโดย Justin Chadwick ผู้กำกับชาวอังกฤษหนุ่มไฟแรงที่กำลังจะมีผลงานตามมาเรื่อย ๆ ราวกับเด็กเส้นกำลังทำผลงานจากหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกกล่าวว่าเป็นต้นตำรับความอื้อฉาวอย่างแท้จริง หนังใหญ่อีกเรื่องที่สร้างมาจากนิยายขายดีจากปากกาเล่มเดียวกันที่เขียนนิยาย "อลิซเบธราชินีบัลลังก์เลือด" ที่ได้รับการถ่ายทอดลงแผ่นฟิล์มไปแล้วถึงสองเรื่อง ที่ว่าเรื่องราวมาจากนิยายนั้นจะว่าไปก็คงไม่ผิดมันเป็นเรื่องเล่าแบบที่มีหลักฐานเล็กน้อย การเล่าต่อกันถือเป็นตำนาน อย่างเดียวกับหนัง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ของท่านมุ้ยก็ออกตัวว่าเป็นตำนานไม่อาจจะถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด ก็สนุกดีที่เรื่องราวแบบนี้ใครเขียนก่อนก็ได้เป็นมาสเตอร์พีซ The Other Boleyn Girl มีจุดเด่นตรงที่เป็นเรื่องราวก่อนพระนางอลิซเบธเพียงหนึ่งรัชสมัย แถมยังนำแสดงโดยดาราสาวชื่อดังทั้งสองมาประชันบทพี่น้องที่แย่งชิงความเป็นที่หนึ่งของบัลลังก์อังกฤษ แมรี่โบลีน (สกาเลตโจฮันส์สัน) ผู้เป็นน้องสาวของ แอนน์ โบลีน (นาตาลีพอร์ตแมน) ได้รับโอกาสรับใช้กษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 (อีริคบานา) จนมีพระโอรส ก่อนที่ แอนน์พี่สาวจะได้ใช้มารยาหญิงช่วงชิงเฮนรี่ที่8 จากราชินีแคทเธอรีนแห่งอาราก้อน ซึ่งเดิมทีเป็นคู่สมรสของพระเชษฐากษัตริย์เฮนรี่ที่8 จุดที่เป็นพลอตของเรื่องคือการช่วงชิงพระเจ้าเฮนรี่ของสองพี่น้อง โอกาสแรกเป็นของแอนน์ผู้เป็นพี่แต่กลับทำเสียด้วยความเป็นสาวห้าวทำให้พระเจ้าเฮนรี่ต้องตกจากม้า (มีแค่กล่าวถึงไม่ได้เห็นภาพในหนัง) เธอจึงอยากจะทวงโอกาสนั้นคืนทั้งที่ พระเจ้าเฮนรี่เรียกแมรี่โบลีนมารับใช้ทั้งที่เธอเองเพิ่งแต่งงานไปไม่นาน บุตรของแมรี่จึงถือเป็นบุตรนอกสมรสไม่ได้รับการเหลียวแลแต่อย่างใด แก่นของหนังน่าจะเป็นจุดที่แอนน์เรียกต้องให้พระเจ้าเฮนรี่หย่าขาดจากพระราชินีแคทเธอรีน เป็นจุดแตกหักที่ใหญ่ที่สุดของสงครามระหว่างผู้หญิงสูงศักดิ์ที่สุดที่ต้องพ่ายแพ้ต่อหญิงธรรมดาคนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะร้อยเล่ห์มารยาอย่างไรจุดจบก็ต้องมีวันเกิด แม้พระเจ้าเฮนนี่จะเคยคุกเข่าสาบานจะภักดีต่อแอนน์เพียงคนเดียวและยกย่องเธอเป็นคู่สมรสเมื่อเธอไม่สามารถให้บุตรชายเพื่อสืบราชบัลลังก์ได้ก็เป็นเหตุให้เธอต้องดิ้นรนทุกอย่างจนถูกบั่นคอในที่สุด บัลลังก์ยังไม่สิ้นกลิ่นคาวเลือดยังคงถ่ายทอดสู่อลิซเบธบุตรสาวของนางแอนน์ที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยแมรี่น้าสาวที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบท สายเลือดของอังกฤษยังคงไหลเวียนอย่างฉาวโฉ่ผิดประเวณีโจ๋งครึ่มไม่จบสิ้นจนปัจจุบัน เรื่องราวอันเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานจึงไม่ใช่นิยายล้าสมัยเพราะสังคมทุกชนชั้นแม้ชั้นกษัตริย์อังกฤษก็ยังคงดำเนินไม่ต่างจากอดีตกาล The Other Boleyn Girl มีสิ่งที่ผมรู้สึกขัดใจในช่วงแรกของหนังตรงที่ผมยังเห็นนาตาลีพอตแมนเป็นเพียงแต่เด็กสาวอยู่ ไม่น่าจะเหมาะกับบทแมรี่ผู้เป็นพี่ อีกอย่างสการ์เล็ตโจฮันส์สันดูจะแสดงบทเซ็กซี่ร้อยมารยาได้ดีกว่าอย่างที่เคยเห็นใน "Match Point" (ถ้าคุณเคยดูนะ) ก็คงจะต้องลองดูก่อนว่าภาพลักษณ์ของสองสาวนั้นจะสลับกันแล้วทำให้หนังน่าดูรึเปล่า สำหรับผมแล้วรู้สึกจะต้องผิดหวังกับช่วงเวลาที่สับสนกับความเปลี่ยนแปลงนี้โดยปริยาย นาตาลีพอร์ตแมนยังดูเหมาะกับบทไร้เดียงสามากกว่าอยู่ดี ส่วนสการ์เล็ตช่างไร้เดียงสาได้เสเสร้งมาก หนังจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังน่าจะเอาใจแฟน ๆ กลุ่มสิทธิสตรีที่กำลังฮือฮากับโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ครองโลก เพราะช่วงที่มีการเตรียมตัวถ่ายทำ นางฮิลลารี่คลินตัน ยังคงเป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอเมริกาอยู่ แต่ โถ...เหตุการณ์เปลี่ยนไป นางคลินตันต้องถอยร่นให้บารัคโอบาม่าชายผิวดำมาแทนที่ หนังเรื่องนี้ก็เลยต้องถอยร่นแพ้ศึกตามนางคลินตันไปด้วย

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สองโกหกผู้เกรียงไกร "Wag The Dog

______ยังรู้สึกถึงการเมืองอเมริกาไม่หาย ผมเองก็อยากจะลองนำเสนอหนังเก่าที่ตีแผ่วิธีการหาเสียงของผู้นำอเมริกาได้อุบาทว์สุดวิธีหนึ่ง Wag the dog หนังธรรมดาเรื่องหนึ่งที่รวมดาราใหญ่อย่างดัสดินฮฮฟแมนและโรเบิร์ตเดอเนโร หนังเริ่มจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่กำลังอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งใหม่เนื่องจากจะหมดวาระการปกครองสมัยที่หนึ่ง แต่มีเหตุการณ์บ้าบอคอแตกคล้าย ๆ กับเรื่องจริงของอดีตประธานาธิบดีบิลคลินตันที่ตกเก้าอี้เพราะดันไปล่วงละเมิดทางเพศแม่สาวเลวินสกี้ แต่ พณฯ ดันไปละเมิดเด็กหญิงยุวกาชาด เป็นอันต้องหาวิธีเอาตัวรอดไม่ให้ตกเก้าอี้แถมยังต้องรีเซ็ทระบบการหาเสียงใหม่วิธีการเก่า ๆ ต้องโยนทิ้งถังขยะไปทันที แต่ก็ไม่วายมีอดีตเจ้าหน้าที่พิเศษที่ถนัดด้านสร้างภาพพจน์กลับมาทำหน้าที่สำคัญในการวางแผนกู้ชื่อเสียงขณะเดียวกันก็ต้องได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นด้วย วิธีการอันแสนแยบยลของคอนหราด (โรเบิร์ตเดอเนโร) ก็การสร้างสถานการณเพื่อเบนความสนใจต่อประชาชน ให้ผู้นำของเขากลับกลายมาเป็นป๋าใจดีดูแลลูกชาย (ทหารหรือ mysonในภาษาทหาร) ที่กำลังลำบากอยู่ต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลวงที่สร้างขึ้นมาถ่ายทอดทางทีวีแต่มันช่างดึงดูดความสนใจแล้วประชาชนต่างเอาใจช่วย มันได้ใจกันสุด ๆ จนต้องเพิ่มรายละเอียดซึ่งบรรเจิดมาก พลทหารวิลเลี่ยมชูว์แมน (วู้ดดี้ฮาเรลสัน) ออกเสียงชื่อคล้าย ๆ รองเท้า ได้ชื่อเล่นว่ารองเท้าเก่า ๆตกเป็นเชลยสงคราม ที่ไม่มีใครเคยสนใจแต่ได้รับการใยดีจากป๋าท่าน จนต้องเกิดเรื่องวุ่นวายที่จะต้องไปพาพลทหารคนดังกล่าวกลับมาประเทศ คอนหราด ได้ปูทางไว้แล้วมีทั้งข่าวความรุนแรงและน่ากลัวของสงครามภายในเราจะได้เห็นตัวประกอบอย่าง คริสเตนดันสท์ ร่วมแสดงตั้งแต่ยังเริ่มย่างวัยรุ่น และดาราใหญ่อีกคนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหนัง อดีตผู้กำกับดังตกกระป๋อง แสตนลี่มอทส์ ไม่ใช่คูบริคหรอกนะ (ดัสตินฮฮฟแมน) เรื่องบ้าบอคอแตกเริ่มขึ้นจากความหัวใสของแสตนลี่มอทส์เพิ่มความเข้มข้นของข่าวและเพลงประกอบเหตุการณ์รวมถึงมุขรองเท้าผูกเชือกแขวนตามต้นไม้แทนเสียงเรียกร้องอิสระภาพให้กับ ชูว์แมน เหลือเชื่อที่ได้เจ้าชูว์แมนผู้น่าสงสารนั้นแท้จริงคือชายโรคจิตที่น่าสมเพชมากไม่ได้รับรู้ถึงความสำคัญของตัวเองเลยว่าชื่อของเขามีประโยชน์กับผู้นำประเทศแค่ไหน อย่างไรก็ตามภาพพจน์ทหารอเมริกันในต่างประเทศก็มักเป็นภาพของพวกบ้ากามที่อยู่นอกบ้านตัวเองการจะให้คาแร็คเตอร์ชูว์แมนเป็นแบบนี้ถือว่าหนังทำกับกองทัพได้แสบ ท้ายสุดบทสรุปก็ต้องเป็นไปตามครรลอง งานเสร็จทหารก็ต้องตาย การเสียชีวิตตองแสตนลี่มอทส์ด้วยเหตุหัวใจวายเป็นการฝังความจริงลงผืนดินราวกับว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความมั่งคงประเทศเสมอมา นี่ถ้า Wag the dog ไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ดแต่เป็นการสร้างของต่างประเทศน่าจะได้รับรางวัลมากกว่านี้ ผมอยากจะยกตัวอย่างหวนกลับมาดูบ้านเราเองก็กำลังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่อาจเกิดสงครามกับเพื่อนบ้าน เราไม่อาจจะรู้ได้ว่าเป็นการเบนความสนใจด้วยสื่อสารมวลชนว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เราต้องพึ่งพารัฐบาลเพื่อความเข้มแข็งของประเทศ ผู้นำจะมีบทบาทสำคัญมากถ้าหากแก้ไขเหตุการณ์นี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี หวังว่าอเมริกาคงไม่ใช้วิธีนี้อีกนะเพราะระดับนี้แล้วเขาไม่ได้สร้างสถานการณ์เทียมแน่ ๆ แต่เขาจะเล่นของจริง เพียงเกิดเหตุก่อการร้ายในประเทศแรง ๆ อีกซักหน พรรครีพับริกันก็อาจจะได้ครองเก้าอีกโดยที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเศรษฐกิจโลกจะเละเทะอย่างไร คงต้องหันมาสนใจและเอาใจช่วยจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสำเร็จ

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ถอดรหัสวิญญาณ Soul's code

______พักนี้หม่อมปลื้มเป็นข่าวโดยอ้อม ๆ อยู่เสมอ ทั้งที่เป็นพิธีกรข่าวอยู่ดี ๆ ก็มีข่าวที่เฉียด ๆ กับการเมืองมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มพันธมิตรผู้ชุมนุม "ถอดรหัสวิญญาณ Soul's code" เป็นผลงานหนังที่นำแสดงโดย หม่อมปลื้ม "หม่อมหลวงณัฎฐกรณํ เทวกุล" ในบท ผ.บ.กานนท์ ประจำสำนักงาน DSI ที่มีตัวหนังสือและฟอร์มเจ้าหน้าที่โก้หรา อย่างกับ FBI ในหนังฮอลลีวู้ด มีทีมีงานฝ่ายนิริเวช พญ.นิชา (เปรมสินี รัตนโสภา) กับเรื่องราวที่โปรโมทไว้อย่างดีว่า สร้างจากเรื่องจริงในคดีฆ่ายัดกล่องและมีปมปริศนาคือรอยสักประหลาด ประเด็นล่อมแหลมต่อสังคมที่เป็นวัตถุดิบของข่าวแต่กลับเป็นปมเล็กน้อยไม่ค่อยสำคัญของหนังคือ ผ้าเหลืองคล้ายจีวร(ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าใช่)ถูกนำมาพันธการศพ จนทำให้ชาวบ้านเล่าลือไปจนศพที่พบในบริเวณวัดนั้นพาให้เสียชื่อไปพักใหญ่เพราะพระลูกวัดต้องกลายเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งก่อน แต่หนังไม่ใช่แนวสืบสวนแบบนั้นเพราะคุณหม่อมแกอยากให้เป็นหนังตลาดที่เรียกคนดูกลุ่มกว้างที่สุดก็ให้แนวหนังออกไปทางหนังผีแต่ให้โปรโมทก้ำกึ่งไว้ก่อนคนดูได้จับทางไม่ถูกคนที่ชอบทั้งแนวผี แนวสืบสวนสอบสวนและกลุ่มคนที่อยากดูคุณปลื้มเล่นหนัง ใช่เลยผมเป็นกลุ่มหลังสุด "ถอดรหัสวิญญาณ" เต็มไปด้วยความเนื้อเรื่องที่สับสนวุ่นวายพอจะให้ กานนท์ เครียดจนจับต้นชนปลายไม่ถูก พอเห็นหน้าคุณปลื้มในหนังไม่อยากจะเชื่อเลยว่าคุณหม่อมปลื้มเล่นหนังได้หน้าตาเฉยสุด ๆ ไร้อารมณ์ทั้งปวงไม่ว่าฉากไหนก็ใช้สีหน้าเดิมตลอดทุกฉากทั้งเรื่องตาตี่ ๆ ก็ไม่โตขึ้นตามบทที่ควรจะเป็น หนังฆาตกรรมอำพรางไม่ใช่แบบฆาตกรต่อเนื่องประเด็นจึงไม่ผูกยาว ศพผู้หญิงที่ถูกยัดในกล่องเป็นนักศึกษาหญิงที่มีอาชีพขายตัวโดยใช้อินเตอร์เน็ทเป็นสื่อกลาง มีประเด็นหึงหวงและผู้ต้องสงสัยจะเป็นฆาตกรก็อาจจะหลายคน ทั้งที่เป็นนักการเมืองหรือพวกอิทธิพลเถื่อนก็คงเป็นลูกค้าใช้บริการทางเพศกับสาวแรกรุ่นเสมอ เนื้อเรื่องหลักในหนังถือเป็นความจริงในสังคมที่สมควรจะนำมาตีแผ่บ้างหนังจะได้มีคุณค่าขึ้นมาบ้าง ผมติดใจกับบทของหม่อมปลื้มไม่หาย ผ.บ.กานนท์ไม่ใช่ยอดมนุษย์มีบ่อยที่สมองตันคิดการคลี่คลายคดีไม่ออกจนผีสาวต้องออกมาช่วยคลี่คลายให้มันถูกต้อง ฉากยิงต่อสู้ก็ดูเข้มแข็งร่างสูงใหญ่ก็ช่วยให้ภาพหนังดูดีแม้กระสุนหลายนัดจะยิงไม่ค่อยโดนเป้าก็ถือว่าสมจริง การที่ตำรวจยังเป็นรองต่ออิทธิพลเถื่อนจนแตะไม่ได้ก็เป็นเรื่องปกติในสังคม โดยรวมทั้งหมดก็ถือว่าทำได้ดีระดับหนึ่งสำหรับหนังเกรดบีเรื่องหนึ่งในเมืองไทย เพียงแต่จุดที่หวังไว้กับหม่อมปลื้มมีมากกว่าการเป็นดารา หม่อมปลื้มโยนหินถามทางที่จะปูไปสู่ถนนการเมืองในอนาคต การทำงานเป็นสื่อมวลชนทั้งโชว์หน้าตาโชว์เสียงหรือเป็นคอลัมภ์นิสต์ตามหนังสือพิมพ์ได้บวกอาชีพดาราภาพยนตร์ไว้อีกหนึ่งอย่างที่ได้ทำเพื่อให้เป็นที่รู้จักของประชาชนในสังคม หม่อมปลื้มมีทุนมากพอจะทำหลาย ๆ อย่างนับเป็นผู้มีโอกาสดีคนหนึ่ง แต่หม่อมปลื้มไม่น่าจะลืมตัวว่า บทของ ผ.บ.กานนท์นั้นไม่ใช่ยอดมนุษย์เป็นเพียงเจ้าหน้าที่สมองตันที่ต้องอาศัยคนรอบข้างทำงานเป็นทีม การดำเนินธุระด้วยตัวคนเดียงสมองเดียวมันกลับทำให้หม่อมย่ำอยู่กับที่ไม่มีขาขึ้นแต่มันอาจจะกลายเป็นขาลงด้วยความที่เป็นสื่อมวลชนวิจารณ์สังคมชะเอียงไปเอียงมาไร้จุดศูนย์ถ่วงแบบนี้สักวันอาจกดอารมณ์ไม่ไหวออกแม่ไม้มวยไทยใส่ใครเข้าจนเสียชื่อที่สะสมมาเปล่า ๆ ได้ง่าย ๆ "ถอดรหัสวิญญาณ Soul's code" ก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลยแม้แต่รายได้ก็ช่างตกต่ำไร้การจดจำมันแย่กว่าดูหนังตลกของโหน่งเท่งเถิดเทิงซะอีก

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พิฆาตแผนจักรกลเขมือบโลก "I, Robot" และ บุรุษสองศตวรรษ "Bicentennial Man"

______เห็นข่าวการแข่งขันหุ่นยนต์ของเยาชนไทยแล้วรู้ปลื้มแทนเพราะไทยสามารถเอาชนะแชมป์เก่าอย่างประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จหวังว่าปีต่อ ๆ ไปไทยจะพัฒนาฝีมือเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือการแข่งขันหุ่นยนต์ ในขณะเดียวกัน ระบบควบคุมหุ่นยนต์ก็ถูกพันฒนาให้ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นไปอีกการแลกเปลี่ยนความคิดเทคโนโลยีในการควบคุมนั้นเปิดกว้างเสมอต่อไปเราคงได้เห็นหุ่นยนต์มีสมองกลควบคุมตัวเองไปสู่หุ่นยนต์ใช้งานในอุดมคติได้สำเร็จ ยิ่งทำให้นึกถึงผลงานเขียนของ ไอแซคอาซิมอฟ (Isaac Asimov) ชาวรัสเซี่ยน เป็นหนึ่งในมรดกงานเขียนเอกของโลกให้นิยามเกี่ยวกับหุ่นยนต์ไว้เป็นเวลานาน อาซิมอฟถนัดเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์แต่ก็มีแนวอื่นที่น่าสนใจ ที่จะนำเสนอผมขอยกสองเรื่องเอก I, Robot และ Bicentennial Man ไม่ใช่เพราะสองเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกันแต่อย่างใดแต่เป็นเพราะเป็นผลงานสร้างที่ล้ำจินตนาการเกินไปจากอาซิมอฟผู้ให้กำเนิดมาก ทั้งสองเรื่องเป็นผลงานเรื่องสั้นแต่หนังทั้งสองเรื่องกลับบเพิ่มจินตนาการได้ยืดยาวกว่ามากจนน่าจะมองออกได้เลยว่าค่อนข้างจะวิบัติแต่จะว่าไปถ้าจะเทียบกับยุคสมัยแล้วผมยอมรับได้ทั้งสองเรื่อง โดยเฉพาะ Bicentennial Man ที่ผมเคยอ่านในฉบับแปล "มนุษย์สองร้อยปี" ที่ออกจะสั้นมากแต่ได้ให้กฏหลัก 10 ข้อของความเป็นหุ่นยนต์ว่ามีกฎบัญญัติอะไรบ้าง ปัจจุบันนักประดิษฐ์ยังคงยึดถืออยู่น่าแปลกที่บัญญัติดังกล่าวไม่ได้ปรากฏในหนังเลยจะมีแค่หลักการเล็กน้อยอย่าง หุ่นยนต์ฟังคำสั่งรับใช้เป็นมิตรห้ามทำร้ายมนุษย์ บัญญัติเดียวกันก็ใช้กับ I, Robot ซึ่งก็ไม่ได้กล่าวถึงเช่นกันเพียงแต่ I, Robot จริงแล้วเป็นเรื่องราวของการฝืนบัญญัติของหุ่นตัวหนึ่งมีความสับสนระหว่างรับคำสั่งแต่เป็นเหตุทำให้เจ้านายเสียชีวิตระหว่างทำเหมืองหุ่นจึงต้องถูกนำมาขึ้นศาลยุติธรรม เจ้าหน้าที่สปูเนอร์ (วิลสมิทธ์) ในเวอร์ชั่นดัดแปลงเป็นหนังแสดงบทแอคชั่นได้เหนือชั้นเพิ่มเนื้อหาให้หุ่นเป็นถึงฆาตกรอันตรายและเลยเถิดขนาดหุ่นจะยึดครองระบบควบคุมทั้งหมดของเมืองขยายผลถึงครอบครองโลก ทีผมว่าวิบัติเพราะอาซิมอฟไม่ได้มีแนวความคิดที่จะให้หุ่นยนต์ครอบครองโลกเลย หนังอีกเรื่อง Bicentennial Man เป็นหนังที่ผมชอบมากกว่าเพราะแนวความคิดเดิมของอาซิมอฟยังคงถูกสนองตอบจนกระทั่งจบเรื่อง เรื่องของหุ่นยนต์รับใช้ตระกูลมาร์ตินนามแอนดริว ที่มีความซื่อสัตย์รับใช้จนไปสู่สายใยความผูกพันธ์บังเกิดจินตนาการอารมณ์ความรู้สึกที่ออกจะเลยเถิดไกลขนาดขยายเป็นอารมณ์พิศวาส ซึ่งในความเห็นของผมอารมณ์นี้ถูกปลูกฝังโดยมนุษย์นั่นแหล่ะ ไม่ว่าจะเป็น ริชาร์ดมาติน (แซมนีล) อามานด้ามาร์ติน สุดท้ายก็พอร์เทีย (เอ็มเบทเดวิดซ์) สะสมอารมณ์ที่ช่วยพัฒนาสมองกลไปสู่จุดสูงสุดประมวลผลแล้วแปลค่าออกมาเป็น "ความรัก" (เห็นไหมล่ะว่าเลยเถิดไปใหญ่จนวิบัติจริง ๆ ด้วย) สิ่งที่แอนดริวใฝ่ฝันคือความเท่าเทียมมนุษย์ที่หมายถึง เขาจะได้รับการยอมรับให้เป็นมนุษย์ นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะแอนดริวประกอบด้วยสิ่งที่ฝืนกฏธรรมชาติทั้งมวล ที่สำคัญโดยหลักศาสนาคริสต์ แอนดริวไม่ได้เกิดในครรถ์มารดาอย่างที่ไบเบิ้ลกำหนด ด้วยความที่แอนดริวเป็นหุ่นยนต์ไม่สามารถจะเป็นประชาชนพลเมืองได้ เขาร่วมมือกับวิศวกรออกแบบอวัยวะเทียม รูเพริตเบินส์ (โอลิเวอร์แพลต) สร้างอวัยะเทียมที่มีอายุขัยเสื่อมลงได้เขาสร้างแม้แต่เลือดสีแดงให้ไหลเวียนในร่างกายจนสุดท้ายแอนดริวก็มีจุดจบอย่างปุถุชน หนังให้เกียรติอาซิมอฟโดยให้ประกาศแอนดริวเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์ ท่าทางพื้นที่จะไม่พอต้องรีบสรุปแล้ว สื่อในหนังส่วนใหญ่จะมองหุ่นไปในแนวทางเดียวกันหมดคือ หุ่นยนต์ต้องการความเป็นมนุษย์ต้องการครอบครองอาณาเขตเป็นของตนเอง ต้องการได้รับความยอมรับในสังคม "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" คงเอามาใช้กับหุ่นยนต์ได้ต่อไปในอนาคต ส่วนหุ่นจะได้ครอบครองโลกหรือไม่ ความจริงย่อมเป็นไปได้เสมอ ในเมื่อมนุษย์มีอิสระในความคิดและการกระทำมากเกินไป แรงงานและชีวิตมนุษย์ก็ด้อยความสำคัญลงทุกวัน แต่หุ่นกลับมีความสำคัญมากขึ้น มันดูแย่ ๆ ยังไงก็ไม่รู้ หนังที่นำเสนอผมยกให้เป็นหนังชั้นดีควรค่าแก่การเทียบเคียงจิตใจทั้งแท้และเทียม